ประวัติกล้อง Nikon
“Nikon” ชื่อที่พวกเรารู้จักกันดีนั้น มีชื่อบริษัทแบบเต็มๆ ว่า Nikon Corporation (Kabushiki Kaisha Nikon) ก่อตั้งบริษัทเป็นครั้งแรกเมื่อ 25 กรกฎาคม ค.ศ. 1917 ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของสามบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ทางด้านออพติกชั้นนำ โดยใช้ชื่อในช่วงเริ่มต้นว่า Nippon Kogaku Kogyo Kabushikigaisha โดยบริษัทนี้มีวัตถุประสงค์ในการผลิตชิ้นเลนส์เพื่อใช้ในการถ่ายภาพ, กล้องส่องทางไกล และอุปกรณ์ทางการทหารของญี่ปุ่นอีกหลายรายการ (ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2) ข้อมูลที่เราอาจจะแปลกใจก็คือ บริษัทนี้เป็นผู้ผลิตเลนส์ให้กับกล้องตัวแรกของ Canon ด้วย
ส่วนเลนส์ชื่อ Nikkor นั้น เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1932 จากต้นตระกูลเดิมของเลนส์จากบริษัทนี้ที่ใช้ชื่อว่า Nikko จากการตัดทอนตัวอักษรชื่อเต็มของบริษัท(Nippon Kōgaku Kōgyō ) ซึ่งคำว่า Nikko ในภาษาญี่ปุ่นนั้นจะแปลว่า “แสงอาทิตย์”
ปี ค.ศ. 1920 คือปีแรกที่มีการออกแบบเลนส์ตัวแรกเพื่อเตรียมทำตลาด และสำเร็จออกมาเป็นเลนส์ Anytar 120mm f/4.5 และในระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่สองนั้นบริษัทก็ได้ขยายงานการผลิตไปสู่ อุปกรณ์เพื่อการทหารหลายชนิด รวมทั้งกล้องสำหรับการถ่ายภาพทางอากาศด้วย
ภายหลังจากที่สงครามสิ้นสุดลง Nippon Kogagu ได้ตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าจะผลิตกล้องส่วนบุคคลสำหรับการใช้งานทั่วไป โดยเริ่มต้นที่การออกแบบกล้อง TLR 6×6 และกล้อง Rangefinder 35 มม. ซึ่งกล้อง TLR นั้นมีชื่อเรียกว่า Nikoflex แต่โครงการผลิตกล้องตัวนี้กลับถูกเลื่อนออกไปเพราะปัญหาที่ไม่สามารถหาระบบ ชัตเตอร์แบบ “Leaf” ที่เหมาะสมสำหรับประกอบเข้ากับกล้องตัวนี้ได้
ทิศ ทางจึงมุ่งมาที่กล้อง Rangefinder ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก Contax และ Leica แทน ซึ่งในที่สุดก็ประสบความสำเร็จและได้รับความนิยมอย่างมากมาย ส่งผลให้มีกล้อง Rangefinder อีกหลายรุ่นตามลงสู่ตลาด และก็ไม่เพียงแค่กล้องเท่านั้น บริษัทยังได้ผลิตเลนส์ที่สามารถนำไปใช้งานกับกล้อง Leica ได้ด้วย ซึ่งก็ได้รับคำชมจากช่างภาพมืออาชีพและช่างภาพข่าวเป็นอย่างมากด้วยเหตุที่ มันมีประสิทธิภาพสูงมากเมื่อใช้กับฟิล์มขนาด 35 มม.
ต่อมาในปี ค.ศ. 1959 ก็เป็นช่วงแห่งประวัติศาสตร์ของ Nippon Kogaku อีกครั้งด้วยการเปิดตัว Nikon F กล้องแบบ SLR 35mm ในระบบกลไกที่แข็งแรงทนทานต่อทุกสภาวะ และต้องการการดูแลรักษาน้อยกว่ากล้องอื่นๆ ในสมัยนั้น ซึ่งการันตีด้วยช่างภาพที่เป็นพันธมิตรกับ Nikon ผู้ปฏิบัติการถ่ายภาพอยู่ในพื้นที่สุดโต่งของโลกอย่างเทือกเขาเอเวอร์เรสต์ หรือในทะเลทรายซาฮาร่า ซึ่งก็ทำให้กล้องรุ่นนี้มีชื่อเสียงที่โด่งดังอยู่ไม่ใช่น้อย ส่งผลให้ในเวลาต่อมา กล้องรุ่น F ของ Nikon ถูกกล่าวขวัญเป็นอย่างมากและเป็นที่ติดอกติดใจของบรรดาช่างภาพมืออาชีพทั่ว โลกแบบถล่มทลาย
การออกแบบและพัฒนากล้องและอุปกรณ์อื่นๆ ยังคงเดินหน้าทำชื่อเสียงต่อไป กระทั่งในปี ค.ศ. 1988 บริษัทก็ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น Nikon อย่างเป็นทางการ ถึงปัจจุบันนี้ก็แทบจะมีกล้องเฉียดสองร้อยรุ่น และหนึ่งในกล้องอีกชนิดหนึ่งที่สร้างชื่อเสียงให้กับ Nikon เป็นอย่างมากก็คือ กล้องตระกูล Nikonos ซึ่งเป็นกล้องฟิล์มสำหรับการถ่ายภาพใต้น้ำ โดยมีการผลิตออกวางจำหน่ายถึง 5 รุ่นด้วยกัน
เมื่อ กระแสของกล้องถ่ายภาพแบบดิจิตอลถาโถมเข้าใส่โลกอย่างรุนแรง Nikon ก็ไม่ยอมตกขบวนรถไฟสายด่วนนี้ บริษัทจึงได้เริ่มพัฒนากล้องสำหรับการใช้งานในอวกาศโดยการร่วมมือกับ NASA ในปี ค.ศ. 1991 แต่ก่อนหน้านั้นก็ได้ร่วมมือกับ Kodak ในการพัฒนากล้องดิจิตอลโดยใช้พื้นฐานบอดี้ของกล้องฟิล์มไปบ้างแล้ว จนกระทั่งในที่สุด Nikon ก็เผยโฉมกล้อง DSLR ระดับมืออาชีพตัวแรกของโลกได้เป็นผลสำเร็จในปี ค.ศ. 1999 ด้วยรุ่น D1 พร้อมกับการถือกำเนิดของสายการผลิต “Coolpix” ซึ่งเป็นกล้องคอมแพ็คสำหรับผู้ใช้ทั่วไปด้วย
และด้วยวิสัยทัศน์ที่เทน้ำหนักไปยังโลกดิจิตอล Nikon จึงได้ประกาศหยุดสายการผลิตกล้องและอุปกรณ์ในระบบฟิล์มอย่างเป็นทางการในเดือนมกราคมของปี ค.ศ. 2006 แต่ก็จะยังคงการผลิตกล้องฟิล์มระดับมืออาชีพตามแผนงานเอาไว้อีกหนึ่งรุ่นคือ Nikon F6 ที่มีแผนการเปิดตัวและวางจำหน่ายในปี ค.ศ. 2010 และยังจำหน่ายกล้องฟิล์มรุ่น FM10 ซึ่งผลิตโดย Cosina จนถึงปี ค.ศ. 2009 แต่จะยังคงการบริการและอะไหล่สำหรับกล้องฟิล์มเอาไว้อีก 10 ปี หลังจากนั้น สิ่งหนึ่งที่ยังคงเป็นปมด้อยของ DSLR จาก Nikon ก็คือ มันเป็นกล้อง DSLR ที่ใช้เซนเซอร์รับภาพแบบ APS ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าฟิล์ม 35 มม. ซึ่งกล้อง DSLR ที่ผลิตขึ้นในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1999 ถึง 2007 ไม่ว่าจะเป็นระดับผู้ใช้ทั่วไปหรือระดับมืออาชีพก็จะใช้เซนเซอร์รับภาพใน ขนาดนี้ทั้งสิ้น
ในช่วงปลายปี ค.ศ. 2007 นั้นเอง ปมด้อยของ Nikon ในเรื่องนี้ก็ถูกลบทิ้งไปด้วยการมาถึงของกล้อง DSLR ที่ใช้เซนเซอร์รับภาพขนาด Full Frame ตัวแรกในรุ่น D3 และตามมาด้วย D700 ในอีกไม่กี่เดือนถัดมา
หลัง จาก D1 ที่เป็น DSLR ระดับโปรตัวแรกของโลกแล้ว ในปี ค.ศ. 2008 Nikon ก็ได้จารึกชื่อตัวเองในฐานะครั้งแรกของโลกอีกครั้งด้วยการประกาศเปิดตัว กล้อง DSLR รุ่น D90 ด้วยความที่มันเป็น DSLR ตัวแรกของโลกที่สามารถบันทึกภาพวีดีโอได้
เรื่องน่ายินดีอีกอย่างหนึ่งสำหรับบ้านเราก็คือ Nikon ได้ทำการตั้งฐานการผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ในประเทศไทยที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และผลิตกล้องในตระกูล Coolpix ที่โรงงานแห่งนี้มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1991 ซึ่งจัดเป็นอีกโรงงานหนึ่งที่เติบโตอย่างรวดเร็วมาก หน้าที่รับผิดชอบในขณะนั้นก็คือ การขึ้นรูปพลาสติกสำหรับผลิตตัวกล้อง, ชิ้นส่วนทางด้านออพติค, งานสี, งานพิมพ์, งานโลหะ, ผลิตเลนส์ Spherical และ Aspherical, ผลิตปริซึม, ผลิตมอเตอร์ Silent Wave และส่วนอุปกรณ์สำหรับระบบออโตโฟกัส ต่อมาในปี ค.ศ. 2009 จึงได้ขยายสายการผลิตกล้อง DSLR ขึ้นที่โรงงานในเมืองไทยสำหรับกล้องในระดับเซนเซอร์ “DX” ส่วน DSLR ที่ใช้เซนเซอร์ Full Frame นั้นยังคงทำการผลิตจากโรงงานที่ญี่ปุ่นเช่นเดิม
มวยรุ่นกลางจากค่าย Nikon ที่มาแทน D300S กับความสามารถและคุณสมบัติสมัยใหม่เต็มตัว มีความละเอียดจากเซนเซอร์รับภาพแบบ CMOS อยู่ที่ 16.2 MP ดัน ISO จาก 100 ไปถึง 25600 พร้อมคุณสมบัติในการลดจุดรบกวนหรือ Noise ตามสไตล์ของ Nikon ติดตั้งเซนเซอร์ออโตโฟกัสมาให้มากถึง 39 จุด ซึ่งเป็นแบบ Cross Type 9 จุดเพื่อความแม่นยำ ช่องมองภาพมองเห็นพื้นที่ได้ 100% ตัวกล้องจากวัสดุ Magnisium Alloy พร้อมระบบการซีลป้องกันฝุ่นและละอองน้ำ ใส่ SD Card ได้ถึง 2 ใบพร้อมกันโดยที่สามารถกำหนดลักษณะหน้าที่การทำงานได้ ถ่ายภาพต่อเนื่องได้ 6 ภาพต่อวินาที มีระบบ Face Detection สำหรับจับใบหน้าได้โดยอัตโนมัติ แน่นอนว่ากล้อง DSLR ยุคนี้ต้องบันทึกภาพวีดีโอได้ด้วย D7000 สามารถบันทึกภาพวีดีโอแบบ Full HD 1080P พร้อมทั้งติดตั้งพอร์ตแบบ HDMI มาให้ใช้งานคู่กัน จอภาพด้านหลังขนาด 3 นิ้ว ความละเอียด 920,000 px มีระบบ Live View ให้ใช้งานแน่อยู่แล้ว เป็นกล้องอีกตัวที่พกคุณภาพระดับเฉียดใกล้มืออาชีพมาได้มากที่สุดตัวหนึ่ง เลยทีเดียว
ไม่บ่อยนักที่กล้องรุ่นเล็กจะได้กลายเป็น “ตัวแรก” โดยในครั้งนี้ D3100 เป็นกล้องตัวแรกของค่ายที่สามารถบันทึกภาพวีดีโอในระดับ Full HD 1080p ด้วยเซนเซอร์รับภาพแบบ CMOS ระดับ 14.2 MP มันมาพร้อมกับจอภาพ LCD ขนาด 3 นิ้ว และระดับ ISO ที่สูงขึ้นกว่าเดิมถึงระดับ 12800 และเซนเซอร์ออโตโฟกัสถึง 11 จุด ระบบขจัดฝุ่นบนเซนเซอร์สองระบบ และโปรเซสเซอร์ EXPEED เวอร์ชั่น 2 ที่ทำให้มันเก่งขึ้นกว่าเดิมโดยมีระบบปรับแต่งทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว ในกล้องให้ใช้งาน นอกจากนี้ยังมีซอฟต์แวร์จัดการภาพอันลือลั่นของค่ายอย่าง View NX2 แถมมาให้ใช้งานกันด้วย
หลังจากการปรากฏตัวของ DSLR แบบ Full Frame ตัวแรกอย่าง D3 ได้ราวสองปี นิคอนก็กลับสู่ไลน์ของมืออาชีพแบบคุณภาพด้วย D3X และทางด้านความเร็วด้วย D3S มองเผินๆ แล้ว D3S แทบไม่ต่างจาก D3 ตรงไหน แต่นั่นเป็นเพียงเรื่องราวในภายนอกเท่านั้น D3S ถูกปรับปรุงหลายๆ จุด ถึงแม้ว่าหัวใจอย่างเซนเซอร์รับภาพชนิด Full Frame CMOS จะยังคงมีความละเอียดที่ 12.1 mp เท่าเดิม แต่มันก็คือ เซนเซอร์ตัวใหม่ที่ถูกออกแบบมาให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นกว่าเดิม โดยที่มันจะไวต่อแสงมากยิ่งขึ้น สามารถดัน ISO ขึ้นไปได้ถึงระดับ 12800 พร้อมทั้งเพิ่มระบบอำนวยความสะดวกที่ไม่มีให้ใน D3 อย่างระบบขจัดฝุ่นบนเซนเซอร์, Live View, เพิ่มความเร็วในการทำงานของระบบโดยรวม, โปรเซสเซอร์ตัวใหม่, ระบบวัดแสงและออโตโฟกัสที่ถูกปรับปรุงประสิทธิภาพ และมันยังเป็นกล้อง DSLR แบบ Full Frame ตัวแรกของค่ายที่สามารถบันทึกภาพวิดีโอในระดับ HD (720p) ได้ด้วย ความเร็วที่เป็นดั่งเอกลักษณ์ของมันก็คือ ถ่ายภาพต่อเนื่องได้ 9 ภาพต่อวินาทีในความละเอียดสูงสุด และถึง 11 ภาพต่อวินาทีใน DX Mode (5.1 mp) พร้อมกับชุดชัตเตอร์วัสดุเคฟลาร์และคาร์บอนไฟเบอร์ที่ผ่านการทดสอบถึงสามแสน ครั้ง Buffer ถูกขยายให้ใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับข้อมูลภาพต่อเนื่องแบบ RAW ได้ถึง 48 ภาพ และในการชาร์จแบตเตอรี่ 1 ครั้งจะสามารถลั่นชัตเตอร์ได้ถึง 4,200 ครั้งเลยทีเดียว
ที่มา : คลิก
0 ความคิดเห็น